เป้าหมาย และเป้าประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่กำหนดไว้โดยองค์การสหประชาชาติ เป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ต้องทำเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน แม้ว่าสถานการณ์แวดล้อมจะเปลี่ยนแปลง ก็ยังเป็นเป้าหมายและเป้าประสงค์ที่จำเป็นที่ต้องฝ่าฟันทำให้สำเร็จ เช่น การลดและขจัดความยากจน การลดความเหลื่อมล้ำ การศึกษาที่มีคุณภาพ การต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ
ยุทธศาสตร์ชาติ
เรื่องเป้าหมาย SDGs กับเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ และเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีความเชื่อมโยงกัน
จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ มีเป้าหมายระยะยาว มีการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็จะเป็นแผนที่เชื่อมโยง ถ่ายโยงจากยุทธศาสตร์และเป้าหมายระยะยาว มาสู่แผนดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นช่วงเวลา ทุกระยะ 5 ปี
ยุทธศาสตร์ชาติสามารถปรับเปลี่ยนได้ หากมีความจำเป็น อาจเขียนไว้ว่าให้มีการทบทวนทุกระยะ 5 ปี และ ให้ทบทวนเมื่อสถานการณ์แวดล้อมภายในประเทศ สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปจนกระทบกับยุทธศาสตร์ชาติ แต่ต้องมีกติกาชัดเจน ตัวอย่างเช่น หากต้องการปรับเปลี่ยน ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ในฐานะที่เป็นตัวแทนประชาชน
สำหรับเรื่องตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่วนหนึ่งใช้ชุดตัวชี้วัดที่กำหนดร่วมกันภายใต้การทำงานขององค์การสหประชาชาติ มาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกส่วนหนึ่งก็ควรมาศึกษาดูว่า ควรมีการเพิ่มเติมตัวชี้วัดอะไรอีกบ้าง เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและเป้าหมายของการพัฒนาของไทย และที่สำคัญ คือ การเพิ่มเติมตัวชี้วัดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พิจารณาถึงเรื่องความมีเหตุผล ความพอประมาณ และการมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ที่มา: http://www.tsdf.or.th