ภาวะผู้นำหมายถึง “ทักษะในการขอความร่วมมือจากผู้อื่นให้ช่วยทำสิ่งที่ตัวเองทำคนเดียวไม่ได้”
ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องมีในการแสดงภาวะผู้นำคือ “สิ่งที่ตัวเองอยากทำ” วิสัยทัศน์ที่จะขอความร่วมมือจากผู้อื่นได้ต้องมีพลัง วิสัยทัศน์จะมีพลังได้ก็ต่อเมื่อ คุณอยากจะใช้ทักษะของตัวเองดึงดูดความสนใจของสมาชิกให้มาร่วมมือกัน บริษัทที่มี “ความอยากทำ” จะทนต่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้
การมี “สิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ” หมายถึงการลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะต้องเผชิญอุปสรรค การอยากลงสนามแข่งขันไม่ว่าจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมใดก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญ หากใจคุณไม่มีความอยากทำ ก็คงจะส่งต่อพลังให้ลูกน้องได้ยาก
วิธีสร้างวิสัยทัศน์ใน 3 ขั้นตอน
1. รวบรวมวัตถุดิบในการสร้างวิสัยทัศน์
2. สร้างวิสัยทัศน์จากการคุย
3. ถ่ายทอดวิสัยทัศน์เป็นตัวอักษรหรือภาพ
ขั้นตอนที่ 1 รวบรวมวัตถุดิบในการสร้างวิสัยทัศน์
วัตถุดิบแรกที่ต้องหามาคือ อดีต เมื่อรวบรวมวัตถุดิบในอดีตได้แล้ว ต่อไปเป็นการรวบรวมวัตถุดิบ “ภายนอก” เช่น ไปเยี่ยมชมบริษัทต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูล ไปพบปะพูดคุยกับคนในวงการเดียวกันและคนต่างวงการที่ไม่ค่อยได้เจอ ถือเป็นการเจอสิ่งเร้าที่หาไม่ได้ในชีวิตประจำวัน
ขั้นตอนที่ 2 สร้างวิสัยทัศน์จากการคุย
ลองคุยกับเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้รับฟังที่ดีเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ กำหนดว่าจะคุยเรื่องอนาคตไกลแค่ไหน อีก 1 ปี หรืออีก 3 ปี คุยไปเรื่อยๆ โดยไม่หยุดอย่างน้อย 1 ชั่วโมง จนรู้สึกว่าปากร้อยเรียงคำพูดออกมาได้เองและสมองไม่ต้องเค้นคำพูดออกมา ควรหาโอกาสคุยกันบ่อยๆ ไม่ใช่คุยแค่ครั้งเดียวจบ จะเปลี่ยนคนคุยก็ได้ อย่างน้อยที้สุดให้คุยกันสัปดาห์ละ 2 ครั้งต่อเนื่อง 1 เดือน
ขั้นตอนที่ 3 ถ่ายทอดวิสัยทัศน์เป็นตัวอักษรหรือภาพ
การเขียนจะช่วยให้คุณมองเห็นวิสัยทัศน์ เลือกวิธีเขียนตามใจชอบ จากนั้นย้อนกลับไปดูวิสัยทัศน์นั้นบ่อยๆ เพื่อให้ติดตรึงในใจ
ศาสตราจารย์คานาอิ โทชิฮิโระ ซึ่งศึกษาทฤษฎีองค์กรอยู่ที่มหาวิทยาลัยโกเบกล่าวว่า “งานยุ่งไม่ได้เป็นเพราะสร้างวิสัยทัศน์ไม่ได้ แต่เพราะไม่ได้สร้างวิสัยทัศน์ งานถึงได้ยุ่ง”
ที่มา: 25 Things the Leader Must Know จากเว็บไซต์ Nikkei Business ONLINE เขียนโดย ซูซูกิ โยชิยุกิ