วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เป็นวิชาว่าด้วยการข่าวและการสื่อสารมวลชน ศึกษาถึงหลักการ องค์ประกอบ รูปแบบ ขนาด และกระบวนการสื่อสาร SMCR (E) ได้แก่ ผู้ส่งสาร (source) เนื้อหา (message) ช่องทางสาร (channel) ผู้รับสาร (receiver) และผลที่เกิดจากการสื่อสาร (effect)
สาระที่เป็นหัวใจในการสื่อสาร ได้แก่
สื่อ (medium) ทำหน้าที่เป็นพาหะในการส่งผ่านสิ่งใดๆ
สื่อมวลชน (mass media) เครื่องมือที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการถ่ายทอดข่าวสารจากผู้ส่งสารสู่มวลชน
การสื่อสาร (communication) กระบวนการต่อเนื่องในการถ่ายทอดข้อมูล ข่าวสาร ความคิด และ/หรือ ทัศนคติ จากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่ง สามารถทำได้ทั้งสื่อสารทางเดียว สื่อสารสองทาง สื่อสารหลายทาง
การสื่อสารมวลชน (mass communication) กระบวนการเผยแพร่ข่าวสาร ความคิด และทัศนคติผ่านทางสื่อมวลชนไปถึงมวลชน
วารสารศาสตร์ (journalism) เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยหลักการเสนอข่าวและสถานการณ์ปัจจุบันให้ผู้อ่านได้รับรู้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง เที่ยงตรง
นักข่าว/นักหนังสือพิมพ์ (reporter/journalist) คือบุคคลที่ปฎิบัติงานในวงวิชาชีพวารสารศาสตร์ ทำหน้าที่ สื่อข่าว รายงานข่าว อธิบายหรือไขความข่าว และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นข่าว และ/หรือ เหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน ตลอดจนวิเคราะห์ผลของสถานการณ์ที่อาจกระทบต่อประชาชนและสาธารณะ
ปรัชญาวิชาชีพวารสารศาสตร์เป็นกลไกสำคัญในการสร้างสมดุลให้แก่สังคม คอยสอดส่องดูแลผลประโยชน์ของสังคมและสาธารณะ สิ่งที่รายงานผ่านสื่อมวลชน คือ เสียงสะท้อนของประชาชน ความหลากหลายแตกต่างของความคิดที่นำเสนอในสื่อมวลชนแสดงถึงการถกเถียงที่นำไปสู่ความจริงหรือข้อยุติที่เหมาะสมตามบรรยากาศเสรี เป็นเสียงสะท้อนให้รัฐบาลถือเป็นแนวทางพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ให้ประชาชนมีโอกาสตรวจสอบประสิทธิภาพของรัฐบาล รัฐบาลไม่อยู่ในฐานะที่จะแทรกแซงสิทธิการสื่อสาร และสิทธิการรับรู้ของประชาชน
ภาระหน้าที่หลักของสื่อมวลชน คือ การยึดมั่นกับหลักการทางวิชาชีพอย่างรับผิดชอบด้วยการนำเสนอความคิดเห็น เสนอข้อเท็จจริง ทำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณชนเพื่อผลประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง
สื่อมวลชนในระบอบประชาธิปไตยมีหน้าที่ดังนี้
1. รายงานข่าวสารความเคลื่อนไหวในสังคม (to inform)
2. เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ในสังคม (to give opinion)
3. ให้ความผ่อนคลายด้วยสาระบันเทิงแก่ผู้อ่าน (to entertain)
4. เป็นสื่อกลางโฆษณาสินค้าให้ผู้บริโภคมีทางเลือก (to advertise)
ที่มา: วารสารศาสตร์เบื้องต้น ปรัชญาและแนวคิด โดย มาลี บุญศิริพันธ์